สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยสถิติล่าสุดเมื่อปลายปี 2565 ว่า “คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดวันละกว่า 40 คน” ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย ทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในไทยยังพบในช่วงอายุน้อยลง ดังนั้นเราทุกคนจึงไม่ควรชะล่าใจ เพราะแม้ว่าร่างกายจะดูเหมือนแข็งแรงดี ไม่มีความเสี่ยงหรืออาการเตือนใดๆ แต่ทุกคนก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ แม้อายุจะยังไม่มาก
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด
เมื่อพูดถึงมะเร็งปอด หลายคนอาจมองว่าต้องเกิดจากการสูบบุหรี่เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้
- บุหรี่ มีนิโคตินและสารพิษมากมายที่เปรียบเสมือนสารตั้งต้นของการเกิดมะเร็งปอดที่สำคัญที่สุด เพราะสารพิษในบุหรี่จะเข้าสู่ร่างกายและไปถึงปอดโดยตรง โดยมีการสะสมตามจำนวนปีและปริมาณที่สูบ จึงส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนใกล้ชิดเป็นประจำก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน
- บุหรี่ไฟฟ้า แม้ผู้สูบจะได้รับสารต่างๆ น้อยกว่าการสูบบุหรี่แบบปกติ แต่ในบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังมีสารก่อมะเร็งอย่างนิโคตินและไนโตรซามีนอยู่เช่นเดิม
- การได้รับสารเคมี เช่น แอสเบสทอสหรือแร่ใยหิน ที่มักมีอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ เหมืองแร่ ก่อสร้าง หากสูดดมบ่อยๆ ก็เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน
- ฝุ่นและควัน โดยฝุ่นที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุดคือ ฝุ่น PM.2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นผงขนาดเล็กที่เมื่อหายใจเข้าไปแล้ว ฝุ่นเหล่านี้จะสะสมอยู่ในปอดและก่อให้เกิดอาการอักเสบ
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
อาการของโรคมะเร็งปอด
ส่วนใหญ่โรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ ถ้าเริ่มมีอาการเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงอยู่ในระยะลุกลามแล้ว โดยมีอาการที่พบมักมีดังนี้ ไอเรื้อรัง หายใจลำบาก เจ็บหรือแน่นหน้าอก เสียงแหบ เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีอาการค่อนข้างชัดเจนหรือน่าสงสัย กับกลุ่มที่ไม่มีอาการ ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป แม้ไม่มีอาการ แต่มีประวัติสูบบุหรี่จัด ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ (Low Dose CT Scan) ซึ่งจะได้ภาพปอด 3 มิติ ที่สามารถตรวจเจอมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น คือมีความละเอียดและชัดเจนว่าการเอกซเรย์ปอดธรรมดา ที่อาจตรวจไม่พบหากยังมีอาการไม่มาก
ชนิดและระยะของโรคมะเร็งปอด
โรคมะเร็งปอดแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก และชนิดเซลล์ไม่เล็ก โดยมีการแบ่งระยะของโรคที่แตกต่างกัน ดังนี้
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มี 2 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลาม และพบเซลล์มะเร็งในปอด 1 ข้าง หรืออวัยวะข้างเคียง
- ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลาม เริ่มแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มี 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดน้อยกว่า 5 ซม. ส่วนใหญ่มักแสดงอาการไม่มากนัก
- ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายในปอดหรือต่อมน้ำเหลือง อาจมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม.
- ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งกระจายไปยังส่วนที่อยู่ไกลขึ้น เช่น กระดูก ตับ หรือสมอง เป็นต้น
การรักษาโรคมะเร็งปอด
การรักษาโรคมะเร็งปอด จะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยและวางแผนการรักษาตามความเหมาะสมเป็นรายบุคคล โดยทั่วไปจะมี 3 วิธีรักษาหลัก คือ
- การผ่าตัด ใช้กับการรักษามะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่แพร่กระจาย หรือกระจายไปไม่ไกล โดยผ่าตัดนำก้อนมะเร็งและเนื้อเยื่อใกล้เคียงออก
-