Menu

เตรียมความพร้อม จากมนุษย์เงินเดือนสู่เถ้าแก่

   จากผลการศึกษาของบริษัทเอออน ฮิววิท (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าอัตราการลาออกของพนักงานในปี 2560 เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 16.6 (จากร้อยละ 16.3 ในปี 2559 และร้อยละ 13.5 ในปี 2558)  โดยพนักงานบางส่วนลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวด้วยความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ

    อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ Small Business Administration พบว่า มีเพียงสองในสามของธุรกิจที่ตั้งใหม่ที่สามารถอยู่รอดใน 2 ปีแรก และมีเพียงครึ่งเดียวของธุรกิจที่รอดมาได้ใน 2 ปีแรกที่อยู่รอดได้ถึง 5 ปี และมีเพียงหนึ่งในสามของส่วนที่รอดมาได้หลัง 5 ปีที่สามารถอยู่รอดได้ถึง 10 ปี

    แสดงว่าการทำธุรกิจให้ยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจเราจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้ครบ โดยต้องเตรียมตัว และพิจารณาในเรื่องหลักๆ ดังต่อไปนี้

   1. แผนธุรกิจ ต้องเตรียมอย่างน้อย 3-5 ปี เปรียบได้กับการสร้างบ้านต้องมีพิมพ์เขียว ก่อนที่จะทำธุรกิจจริงก็ต้องมีการทำแผนธุรกิจก่อนเสมอเพื่อให้เห็นภาพรวมธุรกิจได้ครบทุกมุมมอง พิจารณาโมเดลการทำธุรกิจเพื่อทราบแหล่งรายได้ คุณค่าของสินค้าหรือบริการ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คู่ค้า จำนวนเงินลงทุนที่ต้องการ และแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม จำนวนปีที่จะคุ้มทุน ต้นทุนคงที่ และต้นทุนผันแปร การตั้งราคา ช่องทางการตลาด และการจัดจำหน่าย รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Connection)

   2. รูปแบบการทำธุรกิจที่เหมาะสม เช่น ประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล โดยพิจารณาเปรียบเทียบภาระภาษี และการหักค่าใช้จ่าย

   ก. อัตราภาษีที่แตกต่างกันมาก

  • บุคคลธรรมดา จะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 35
  • นิติบุคคล เสียภาษีในอัตราคงที่ที่ร้อยละ 20 สำหรับนิติบุคคลขนาดใหญ่
  • นิติบุคคลที่เข้าเงื่อนไขธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คือมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราภาษีจะลดลงอีก โดยกำไรสุทธิในส่วนที่น้อยกว่า 3 แสนบาทยกเว้นไม่เสียภาษี ส่วนที่เกิน 3 แสนบาทและไม่เกิน 3 ล้านบาทแรกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 และส่วนที่เกิน 3 ล้านบาทเสียภาษีร้อยละ 20

   ข. การหักค่าใช้จ่าย

บุคคลธรรมดา สามารถเลือกใช้วิธีการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับเงินได้บางประเภท

นิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง โดยจะต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบการหักค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม


   3. ทรัพยากรที่จำเป็นต้องมี เปรียบเทียบกับที่ปัจจุบันมีอยู่ เช่น ทีมงาน สถานที่ อุปกรณ์การทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยพิจารณาลงรายละเอียดว่าควรซื้อ หรือเช่า หรือจ้างบริการจากบุคคลภายนอก (outsource) สำหรับงานบางอย่าง ซึ่งอาจจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าในกรณีที่กิจการยังมีเงินลงทุนจำกัดในช่วงแรก

   4. การบริหารสภาพคล่องและเงินทุนสำรอง การประกอบธุรกิจในช่วงแรกมักมีความเสี่ยงในเรื่องการบริหารรายรับรายจ่าย ซึ่งอาจสืบเนื่องจากรูปแบบการประกอบธุรกิจ เช่น ในบางธุรกิจอาจมีการให้ลูกค้าใช้บริการฟรีในช่วงแรก ในขณะที่มีต้นทุนที่เกิดจากการทำธุรกิจแล้ว จึงต้องพิจารณาการบริหารสภาพคล่องให้เหมาะสม ซึ่งอาจได้จากเจ้าของ หรือผู้ร่วมลงทุน หรือจากแหล่งเงินกู้ยืม

   สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือการเตรียมเงินสำรองสำหรับธุรกิจ โดยพิจารณาเตรียมเงินสำรอง สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น สำหรับ 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ จำนวนเงินสำรองที่เหมาะสมในแต่ละธุรกิจจะมีความแตกต่างกัน โดยจะขึ้นกับรูปแบบการทำธุรกิจ เงินทุนหมุนเวียน เครดิตเทอมกับลูกค้าและคู่ค้า อัตราการหมุนเวียนของสินค้า เป็นต้น

   5. กรณีมนุษย์เงินเดือนออกมาเป็นเจ้าของกิจการ ควรพิจารณาการบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติม เนื่องจากสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล คุ้มครองกรณีการเกิดอุบัติเหตุ จะถูกคุ้มครองภายใต้สวัสดิการกลุ่มของบริษัท โดยเมื่อลาออกมาแล้ว สวัสดิการการคุ้มครองต่างๆ จะหมดไป เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือเหตุการณ์ต่างๆ อาจเกิดโดยไม่คาดฝัน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีสวัสดิการติดตัวไว้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะไม่กระทบเงินสำรองและเงินออม

โพสต์โดย : solo solo เมื่อ 17 พ.ค. 2567 17:05:45 น. อ่าน 16 ตอบ 0

facebook