Menu

ไม้เรียวสร้างคนหรือสร้างปม? คนสมัยก่อนมองการตีเป็นเรื่องดีได้ยังไง

          จากสำนวนไทยที่เคยท่องสมัยเด็ก แน่นอนว่าสังคมไทยอยู่กับการลงโทษด้วยการตีมานานแสนนาน ถึงแม้ว่าตอนนี้กระแสห้ามใช้ความรุนแรงกับเด็กจะเป็นเรื่องสำคัญที่ใครหลายๆคนก็ใส่ใจ แต่ก็คงปฏิเสธแบบเต็มปากไม่ไหวว่า ไม้เรียว ยังคงเป็นไอเทมที่ถูกใช้งานอยู่เสมอ iNN เลยขอชวนมาย้อนรอยไม้เรียวที่น่องขาท่องอดีตกันว่า การตีและไม้เรียว กลายเป็นเรื่องดีๆของสังคมได้อย่างไร

         อ่านไม่ผิดหรอก เพราะคนสมัยก่อนเชื่อจริงๆว่าการตีจะช่วยให้ความจำดีขึ้น จนใช้เป็นหลักสูตรหนึ่งในการสอนของชาวตะวันตกสมัยก่อน

         ย้อนกลับไปในสมัยยุคกลาง (​​Middle Ages) ช่วงที่ศาสนจักรเข้ามามีอำนาจปกครองบ้านเมืองสูงสุดและทั้งพื้นที่เต็มไปด้วยความเชื่อทางศาสนา ครูสมัยก่อนมักตีนักเรียนเพราะเชื่อว่าการลงโทษแบบนี้จะช่วยให้เด็กจดจำในสิ่งที่พลาดได้ขึ้นใจ รวมทั้งยังช่วยพัฒนาระดับสติปัญญา เรียกได้ว่าผู้ใหญ่ยุคกลางไม่เน้นเพิ่มรอยหยักที่สมองแต่เพิ่มรอยแดงที่ต้นขากันเลยทีเดียว

        จากบันทึกพบว่าผู้ใหญ่มีความเชื่อว่าการสร้างความเจ็บปวดจะเป็นตัวการสำคัญต่อการพัฒนา ซึ่งจะแบ่งการลงโทษเล็กๆไปจนถึงใหญ่ ตั้งแต่การลงโทษขั้นแรกที่ทำเพื่อกระตุ้นจินตนาการ ขั้นที่สองคือการกระตุ้นตรรกะและเหตุผล และขั้นที่สามจะช่วยให้เด็กฉลาดหัวไว นอกจากนี้ระบบศีลธรรมอันดีก็สามารถสร้างได้ด้วยการตีเช่นเดียวกัน

        แวะกลับมาที่ประเทศไทย ในสมัยอยุธยาแม้จะไม่มีการบันทึกชัดเจนเกี่ยวกับ วิธีกำราบเด็กดื้อ101 ให้เห็นกัน แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีการระบุวิธีลงโทษคนไม่รักดีทั้ง กฎหมายตราสามดวงที่ระบุแนวทางการประหารกบฏ หรือจะเป็นฉากในละครไทยพีเรียดที่เราๆคุ้นกันในปัจจุบัน

         ซึ่งการลงโทษในสมัยโบราณนั้นเป็นการทำเพื่อชำระแค้นตามสมควรแล้วแต่ผู้มีอำนาจดูแลจะสั่งการ โดยโทษเบาสุดก็คือการเฆี่ยนด้วยหวาย หรือจองจำด้วย ขื่อ พวงคอ ล่ามโซ่ ตรวน ซึ่งหวายที่ใช้ลงหลังก็แบ่งย่อยออกเป็น 3 ประเภท ทั้งหวายแช่น้ำแสบ(หรือหวายแช่เยี่ยวที่ได้ยินบ่อยๆในละคร)เวลาโดนความเค็มจากเกลือก็จะเข้าแผลให้ปวดแสบปวดร้อน, หวายกระชากหนังกำพร้า และหวายสามแนวที่มัดเอาหวายสามเส้นรวมกันเป็นเส้นเดียวกัน

        ทั้งนี้ผู้ที่ทำการลงโทษถ้าไม่ใช่เป็นคนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลคนในปกครอง ก็จะเป็นเจ้าขุนมูลนายที่รับบทฟาดเองกับมือ สาเหตุที่ทำได้ก็เพราะเป็นสิทธิอันชอบธรรม ทั้งทำกับลูกของตนเพราะเป็นหน้าที่ควบคุมความประพฤติ หรือแม้แต่ทำกับไพร่ ทาสติดเรือนหากซื้อมาก็ทำได้เช่นเดียวกัน

         จากรักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา สู่ประโยค ‘ตีเพราะห่วงใย’ ในปัจจุบันแม้จะเป็นการแสดงความรักจริงๆแบบพ่อ-ลูก ครู-ศิษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ชัดนั่นก็คือระบบอำนาจและความชอบธรรมที่สังคมปิดหูปิดตามอบให้โดยไม่ฟังเสียงร้องไห้ของเด็กเลย จากผลการศึกษาหลายสำนักต่างออกมายืนยันนอนยันแล้วว่า การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ไม่ได้นำมาซึ่งความรักและเหตุผล ซ้ำยังจะสร้างปมในใจที่ลึกยิ่งกว่ารอยไม้เรียว

          การลงโทษที่เน้นน้ำหนักมือมากกว่าเหตุผลนั้นคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอย่าง อังกฤษ อเมริกา แคนาดา สกอตแลนด์ ก็ได้ยกเลิกกฎระเบียบข้อนี้ไป แล้วประเทศไทยล่ะจะยังสร้างคน(หรือปม)ด้วยไม้พันสก๊อตเทปอยู่หรือเปล่า? ถ้าชื่นชอบบทความดีๆเปิดโลกแบบนี้ล่ะก็ติดตามต่อได้ที่ iNN Lifestyle

โพสต์โดย : Kingdom Kingdom เมื่อ 27 ส.ค. 2567 17:57:16 น. อ่าน 6 ตอบ 0

facebook